สถานที่ไม่ควรพลาด / ของที่ระลึก

เชียงตุง มองอดีตผ่านปัจจุบันของเรา

1. หนองตุง

เมืองเชียงตุงแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นบริเวณหนองตุงตั้งแต่โบราณมา หนองตุงนี้เป็นหนองน้ำธรรมชาติตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีเส้นทางที่สามารถท่องเที่ยวชมวิวทอดยาว 1900 เมตรโดยรอบ รวมถึงตำนานบอกเล่ามากมายเกี่ยวกับหนองตุงที่สืบทอดกันมายาวนาน ประกอบด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จึงทำให้หนองตุงเป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาวเมือง

ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ขณะที่ กอพาลา ผู้ครองเมืองสันดะวาสี ซึ่งปัจจุบันคือเมืองเชียงตุง เป็นระยะเวลาได้ 12 ปี พระพุทธเจ้าพร้อมกับสาวกได้เดินทางมาถึงสถานที่แห่งนี้ ในเวลานั้นพื้นที่ทั้งหมดตกอยู่ในสภาวะน้ำท่วม ราวกับเป็นทะเลสาบอันใหญ่โต และมีชื่อว่าดามีลัต เมื่อนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสกับอนันดาซึ่งเป็นสาวกคนหนึ่ง โดยทรงทำนายว่า ภายหลังจากที่พระองค์สวรรคต จะมีฤาษีมาจากประเทศทางเหนือและจะระบายน้ำในสระ เพื่อสร้างเมืองหนึ่งขึ้น และเมืองนั้นจะมีประชากรสามชาติพันธุ์มาอาศัย พระองค์ยังได้ตรัสไว้ว่า เมืองนั้นจะได้รับพรด้วยอาหารและน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ ตามตำนานยังเล่าต่อว่า จากนั้นอีก 150 ปีหลังจากพระพุทธเจ้าสวรรคต ได้มีฤาษี 4 ตน ซึ่งเป็นบุตรชายของกษัตริย์จีนผู้เรืองอำนาจเดินทางมาถึงบริเวณใกล้กับทะเลสาบดามีลัต เมื่อนั้นบุตรชายคนโตที่ชื่อ ตุงคฤาษี ได้ใช้อิทธิฤทธิ์และพลังเวทย์มนต์ระบายน้ำส่วนใหญ่ของทะเลสาบ แล้วสร้างเมืองที่ริมทะเลสาบขึ้น หลายปีผ่านไปบุตรชายทั้งสี่เดินทางกลับไปยังจีน โดยต่อมามีชนเผ่าลัวะ ตามด้วยชนเผ่าเขินเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่นั่น ในปัจจุบันชนเผ่าเขินเป็นชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่เชียงตุงของชาติพันธุ์ฉาน

เนื่องจากหนองตุงมีเนินเขาสวยงามรายล้อมด้วยเทือกเขาทอดยาว โดยมีด้านหลังโอบรอบที่ราบลุ่มหุบเขาเมืองเชียงตุง ริมฝั่งหนองตุงจึงเหมาะสำหรับการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามสายลมพัดผ่าน และตะวันค่อยๆ ลับขอบฟ้าในยามเย็น

2. พระธาตุจอมคำ และ วัดอารามซุนต่อง

พระธาตุจอมคำ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดโซมคุม เป็นเจดีย์ที่มีความสูง 38 เมตรตั้งอยู่บนเนินเขาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง และสามารถมองเห็นได้จากหนองตุง

มีเรื่องเล่าขานกันว่า พระธาตุจอมคำเป็นหนึ่งในศาสนสถานของพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง ซึ่งย้อนกลับไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมืองเชียงตุงถูกสร้างขึ้นบริเวณที่สมัยก่อนเป็นก้นสระ ส่วนเจดีย์นั้นถูกสร้างบนเนินเขา เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาของพระพุทธเจ้า 6 เส้น ณ. ที่แห่งนี้ นักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลินไปกับผนังสีทองภายในอุโบสถ รวมทั้งภาพวาดเรื่องราวชีวิตในชาติก่อนของพระพุทธเจ้า ซึ่งตกแต่งด้วยแก้วโมเสคสวยงาม รวมทั้งการเข้าชมวิถีชีวิตการปฏิบัติตนของพระสงฆ์ในอารามวัด นับเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจและมีค่ายิ่ง

3. วัดอินวิหาร

มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ในปีค.ศ. 821 หรือ พ.ศ. 1364 นัยสามะวน ผู้ใหญ่บ้านวัดพาภู ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างพระพุทธรูป งานก่อสร้างพระพุทธรูปนั้นดำเนินไปอย่างสะดวกง่ายดาย ยกเว้นการสร้างส่วนพระเศียร ช่างฝีมือรู้สึกไม่พอใจกับผลงานของตนเอง จึงได้ทำการถวายขี้ผึ้ง 100 ชิ้นแก่ผู้พิทักษ์วิญญาณเพื่อขอความช่วยเหลือ

และอีก 12 วันต่อมาในวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนกะโซน มีชายชราผู้หนึ่ง ผมสีขาวพร้อมเครา แต่งกายด้วยชุดขาวปรากฏตัวขึ้น และช่วยชี้แนะช่างฝีมือในการปรับปรุงแก้ไขพระพุทธรูป จึงเป็นที่มาของความเชื่อจนถึงทุกวันนี้ว่า ผู้พิทักษ์วิญญาณนั้นได้ปลอมตัวมาเป็นมนุษย์และช่วยชี้แนะในการก่อสร้างพระพุทธรูปอันงดงามของวัดอินแห่งนี้

4. วัดมหาเมี๊ยะมุณี

วัดมหาเมี๊ยะมุณี หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดพระเจ้าหลวง เป็นวัดโบราณในสไตล์วัดฉาน มีการประดับตกแต่งเพดานและผนังเคลือบด้วยทอง นับเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในรัฐฉาน

วัดมหาเมี๊ยะมุณี ตั้งอยู่กลางวงเวียนจราจร เป็นที่ประดิษฐานของพระมหาเมี๊ยะมุณี ซึ่งจำลองจากของเดิมที่มีชื่อเสียงของเมืองมัณฑะเลย์ โดยเจ้าฟ้าก้อนแก้ว อินแถลง เจ้าผู้ครองนครเชียงตุงองค์ที่ 43 ได้มอบหมายให้ช่างฝีมือทำการหล่อพระพุทธรูปทองขึ้นในปี 1921 หรือพ.ศ. 2464 ที่เมืองมัณฑะเลย์ หลังจากนั้น ทำการขนย้ายโดยแยกชิ้นส่วน ขนส่งมาทางเกวียน ข้ามภูเขาและป่าแห่งรัฐฉาน ผ่านธารน้ำลำคลองและข้ามแม่น้ำสาละวิน ด้วยแพ ในที่สุดก็มาถึงเมืองเชียงตุง ระยะทางรวมมากกว่า 700 กิโลเมตร โดยทำพิธีพุทธาภิเษกในปีค.ศ. 1926 หรือพ.ศ. 2469

5. วัดหัวข่วง

วัดหัวข่วง เป็นอารามหลวงตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดมหาเมี๊ยะมุณีที่มีชื่อเสียง วัดสไตล์ฉานแห่งนี้ได้รับอิทธิพลมาจากวัดสมัยอาณาจักรล้านนาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ย้อนกลับไปประมาณ 650 ปี วัดนี้ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1369 หรือพ.ศ. 1912 บรรยากาศภายในอุโบสถเงียบและสงบ โครงสร้างเป็นไม้สักเรียบง่าย เพดานและผนังเคลือบทองด้าน สามเณรที่นี่น่ารักและเป็นกันเอง

6. สุสานกษัตริย์เจ้าฟ้าเชียงตุง

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 พญาเม็งราย กษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาเชียงใหม่ได้พิชิตพื้นที่แห่งนี้ จึงส่งพระสงฆ์และเจ้าชายมาปกครองเมืองเชียงตุง มีการสร้างเมืองที่มั่นคงแข็งแกร่งและสืบทอดเชื้อสายจากราชวงศ์พญาเม็งราย ปกครองเมืองเชียงตุงมาจนถึงปีค.ศ. 1962 หรือพ.ศ. 2505 ในระหว่างนั้น เจ้าฟ้าผู้ครองนคร จะต้องส่งส่วยให้กับอาณาจักรล้านนาราชวงศ์เชียงใหม่ รวมถึงจักรพรรดิจีนและพม่าด้วย

ในสุสานแห่งนี้ มีกู่ของเจ้าฟ้าองค์ที่ 38 เจ้ามหาขนาน จนถึง เจ้าฟ้าองค์ที่ 45 เจ้าจายหลวง รวมจำนวน 8 กู่ กู่ที่ใหญ่ที่สุดเป็นของเจ้าฟ้าองค์ที่ 43 เจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง พระองค์ทรงครองราชย์รวมระยะเวลา 38 ปี และสวรรคตในปีค.ศ. 1935 หรือพ.ศ. 2478

ヤットームー釈迦立像

7. ยัดตอมู พระพุทธรูปยืน

พระยัดตอมู ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาจอมสัก พระเนตรมองลงไปยังหนองตุง รวมถึงพระหัตถ์ขวาที่ยื่นตรงไปทางหนองตุงเช่นกัน พุทธปฏิมากรมีชื่อว่า “พระเขมรัฐมุทราพยากรณ์” พระพุทธรูปนี้มีความสูง 20 เมตร ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองเชียงตุง พลเอกแทนแสน (Thein Sein) ในสมัยนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารภูมิภาคนี้ ได้รับมอบหมายให้จัดสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1997 หรือพ.ศ. 2540 ซึ่งในเวลาต่อมาพลเอกแทนแสน ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งเมียนมา

โครงการก่อสร้างพระพุทธรูปเริ่มต้นจากพระพุทธรูปโบราณขนาดเล็กที่ถูกขุดค้นพบขึ้นมาในปีค.ศ. 1995 หรือพ.ศ. 2538 และได้แล้วเสร็จในปีค.ศ. 2000 หรือพ.ศ. 2543 ตามตำนานต้นกำเนิดของเมืองเล่าว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าสาวก 49 รูปได้เสด็จเยี่ยมชมเนินเขาจอมสักแห่งนี้ พร้อมทรงพยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะมีเมืองที่เจริญรุ่งเรืองเมืองหนึ่งเกิดขึ้นในบริเวณแห่งนี้ จึงนับได้ว่า พระยัดตอมูที่มีพระหัตถ์ขวายื่นชี้ลักษณะนี้เป็นสัญลักษณ์ของการพยากรณ์ของพระพุทธเจ้า

8. พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมเชียงตุง

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมขนาดเล็กแห่งนี้ ตั้งอยู่ใกล้กับพระยัดตอมูบนเนินเขาจอมสัก ในพิพิธภัณฑ์นี้ นอกจากการจัดแสดงเครื่องแต่งกายตามประเพณีชนเผ่าต่างๆ ของรัฐฉานทางตะวันออกแล้ว ยังมีการจัดแสดงเครื่องแต่งกายตามประเพณีดั้งเดิมของชนเผ่าอื่นๆ ทั่วประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเครื่องเขินที่บรรดาเจ้าฟ้าทั้งหลายแห่งรัฐฉานทรงเคยใช้ตามลำดับต่างๆ มา รวมถึงเครื่องดนตรีตามประเพณี ปีสาร ซึ่งเป็นงานเขียนบนใบปาล์มที่ใช้เหล็กจารปลายแหลมด้วยหมึก พาราไบก์ Parabaik ซึ่งเป็นหนังสือพับพร้อมเอกสารที่เขียนบนกระดาษฉาน และที่โดดเด่นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ พระพุทธรูปแบบพิมพ์ผิวนูนไม่เคลือบเงาที่ถูกขุดค้นพบมากมายบนเนินเขาจอมสักในปีค.ศ. 1994-1995 หรือพ.ศ. 2537-2538

9. พุทธอุทยาน และพระพุทธรูปนั่ง

พุทธอุทยานแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเชียงตุงประมาณ 12 กิโลเมตรไปทางทิศตะวันออกใกล้กับหมู่บ้านพานแคว และอยู่ใกล้ถนนไฮเวย์เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก ตรงทางเข้าจะมีพระพุทธรูปปางนั่งขนาดใหญ่ มีชื่อว่า “พระอภัยราชมุณี” มีความสูง 22 เมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานดอกบัวมีความสูง 2 เมตร โดยฐานหลักใต้ดอกบัวมีความสูง 4 เมตร

ในพุทธอุทยานแห่งนี้ยังมีจุดสวยงามอื่นๆ อีกมากมายด้วย เช่น สวนดอกไม้ ศาลเจ้า อนุสาวรีย์ บทกวี พระพุทธรูปปางต่างๆ ตั้งอยู่เรียงรายล้อมรอบ เพื่อให้ผู้แสวงบุญได้เพลิดเพลินไปกับการปฏิบัติธรรม และนักท่องเที่ยวได้ทัศนศึกษาเที่ยวชมโดยรอบ

10. มิชชันโรมันคาทอลิค

ประมาณปีค.ศ. 1912 หรือพ.ศ. 2455 ภายใต้การปกครองของอาณานิคมอังกฤษ มิชชันนารีชาวอิตาลีเป็นผู้บุกเบิกรัฐฉานทางด้านตะวันออก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนี้ได้เป็นที่ให้การศึกษาแก่ชาวเขา ให้การบริการด้านสุขภาพ และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงเปิดเป็นสถานที่บำบัดรักษาโรคเรื้อน (นิคมโรคเรื้อน) และสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอีกด้วย

ภายในบริเวณ ยังคงมีอาคารสวยงามสมัยอาณานิคมอังกฤษที่มีอายุเก่าแก่กว่าหนึ่งศตวรรษหลงเหลืออยู่บ้าง สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหลังพระยัดตอมู บนเนินเขาจอมสักที่มองลงไปยังหนองตุง

11. ประตูเมืองเก่าป่าแดง

เชียงตุง มีหมายความว่า “เมืองตุงที่มีกำแพงล้อมรอบ” ซึ่งถูกสร้างให้เป็นเมืองที่มีป้อมปราการแข็งแกร่งเมืองหนึ่งในรัชกาลเจ้าฟ้าองค์แรก ที่ทรงพระนามว่า มั่งกุน เมื่อพระองค์ทรงเริ่มครองราชในปีค.ศ. 1243 หรือพ.ศ. 1786 คูเมืองโดยรอบแห้ง ล้อมรอบด้วยกำแพงดินและอิฐรอบเมือง กำแพงเมืองมีความสูง 3 เมตรและมีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร ภายในกำแพงเมืองประกอบด้วยหนองน้ำจำนวน 9 หนองน้ำ จึงเอื้อให้เมืองมีน้ำใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดมา และในปีค.ศ. 1819 หรือพ.ศ. 2362 เจ้าฟ้าองค์ที่ 38 เจ้ามหาขนาน ได้ทรงริเริ่มบูรณะปรับปรุงกำแพงเมืองและสร้างประตูเมืองจำนวน 12 ประตูเมือง

ต่อมาในปีค.ศ. 1833 หรือพ.ศ. 2376 กำแพงเมืองป่าแดงได้รับการซ่อมแซม ปัจจุบันมีเพียงบางส่วนของกำแพงเมืองกับประตูเมืองที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งประตูเมืองป่าแดงเป็นเพียงประตูเมืองเดียวเท่านั้นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์จากจำนวนทั้งหมด 12 ประตูเมือง

12. สวนเนินต้นโดดเดี่ยว

บนเนินจอมมนทางตอนใต้ของตลาดสด ที่เรียกว่ากาดหลวงในเมืองเชียงตุง จะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่และถูกชาวบ้านเรียกว่า “ต้นโดดเดี่ยว” ตามตำนานเล่าว่าในปีค.ศ. 1386 หรือพ.ศ. 1929 เจ้าฟ้าองค์ที่ 9 เจ้าจิตปันตุ แห่งเมืองเชียงตุงทรงปลูกไว้ เพื่อยืนยันความผูกพันของพระองค์กับพระอนุชาอีก 2 พระองค์ เป็นพันธุ์ไม้ยางนา (dipterocarpus alatus) ความสูงประมาณ 70 เมตร และขนาดลำต้นโอบล้อมได้ประมาณ 12 เมตร มีอายุประมาณ 600 ปี

หากมองจากเนินเขาไปยังเมืองเชียงตุงจะเห็นทิวทัศน์ที่งดงามมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเย็นที่พระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า

ヤットームー釈迦立像

13. น้ำตกเชียงตุง

น้ำตกเชียงตุงมีความสูง 33 เมตร ห่างจากเมืองเชียงตุงประมาณ 24 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง อยู่ใกล้หมู่บ้านหัวยั้ง (Hoyang Village) นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำในน้ำตก ถ่ายรูป หรือปิคนิคก็ได้ บริเวณโดยรอบของน้ำตกมีดาดฟ้าสำหรับชมวิวทิวทัศน์ที่งดงามมากมาย เช่น นาข้าวขั้นบันไดที่ลาดกว้างออกไป สามารถมองเห็นถนนลูกรังที่เชื่อมหมู่บ้านเล็กใหญ่ในระยะไกลสุดลูกหูลูกตา โดยมีเทือกเขาทางทิศตะวันออกล้อมรอบ รวมทั้งภูมิทัศน์หุบเขาเชียงตุงด้านล่างนั้นเพลิดเพลินชวนมองอย่างยิ่ง

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้รับการปรับแต่งเพิ่มเติมด้วยร้านอาหารและโรงแรม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมภายในประเทศแห่งหนึ่งอีกด้วย

14. ตลาดสด (กาดหลวง)

ตลาดสด ที่เรียกว่า กาดหลวง ในเมืองเชียงตุง ที่ซึ่งเต็มไปด้วยของแปลกตาที่หาดูได้ยาก อีกทั้งเสียงและกลิ่น จึงเป็นสถานที่น่าตื่นตาตื่นใจที่หนึ่งในการเที่ยวชมและดื่มด่ำไปกับบรรยากาศที่คราคร่ำไปด้วยผู้คนในวิถีชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาได้อย่างน่าประทับใจ ผู้คนมีจิตไมตรีของความเป็นมิตรและเต็มไปด้วยรอยยิ้ม จัดเป็นจุดถ่ายรูปที่งดงามยอดเยี่ยม และเป็นตลาดที่ดึงดูดความสนใจที่สุดแห่งหนึ่งในเมียนมาก็ว่าได้

15. หมู่บ้านหนองเงิน

หมู่บ้านหนองเงินมีอายุประมาณ 170 ปี ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเชียงตุง ระยะทาง 6 กิโลเมตรตามถนนไปมอนรา ในหมู่บ้านมีอนุสาวรีย์ศิลาอายุประมาณ 160 ปี มีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 500 คน รวม 118หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าไทนู้ ตัวบ้านเป็นทรงฉานดั้งเดิมที่มีเสากับโครงสร้างเป็นไม้ ฝาบ้านใช้อิฐกับดิน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง

16. วัดม่อนนูนญี (เมืองนุง)

วัดม่อนนูนญี อยู่ห่างจากเมืองขะ 15 กิโลเมตรในหมู่บ้านป่ากาน วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปสานขึ้นด้วยไม้ไผ่ ซึ่งภาษาไทใหญ่พื้นบ้านเรียกว่า “พระเจ้าอินสาน” ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าวัดนี้ถูกสร้างขึ้นโดยชาวบ้านในปีค.ศ. 1339 หรือพ.ศ. 1882 หลังจากผู้พิทักษ์วิญญาณ(พระอินทร์)ได้สานพระพุทธรูปไว้

วันพระจันทร์เต็มดวงในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะมีงานวัดที่หมู่บ้านจัดขึ้น และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมงานได้ เมืองขะอยู่ห่างจากเมืองเชียงตุง 80 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากเมืองเชียงตุงแบบเช้าไปเย็นกลับได้

17. ดอยเหมย

ดอยเหมย เป็นสถานที่ ที่อยู่ห่างจากเมืองเชียงตุง 28 กิโลเมตรไปทางทิศตะวันออก เป็นที่พำนักของผู้บัญชาการภูมิภาคอังกฤษในช่วงสมัยอาณานิคมปีค.ศ. 1897-1948 ดอยเหมย มีหมายความถึง “ภูเขาหมอก” เพราะตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง1600 เมตรจากระดับน้ำทะเล เล่ากันว่าในสมัยก่อนสภาพอากาศเย็นกว่าตอนนี้ มีหิมะตกในฤดูหนาวอีกด้วย อาคารสมัยอาณานิคมยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง เช่น โบสถ์สวยงามที่ก่อด้วยอิฐ อาคารทรงตะวันตกเก่าแก่ เป็นต้น ผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมอังกฤษในเมียนมา และสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมจะเพลิดเพลินสถานที่แห่งนี้อย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันจะได้รับอากาศบริสุทธิ์ไปด้วย โบสถ์สวยงามยังคงถูกใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และถ้าโชคดีจะเห็นซิสเตอร์ชนเผ่าอาข่าที่ซื่อสัตย์เคร่งครัดอฐิษฐานอยู่ด้วย  ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวจะได้เห็นดอกซากุระหรือดอกพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งรอบสระดอยเหมย จุดเด่นที่สำคัญคือทัศนียภาพป่าเขาสลับกับต้นสน และทิวทัศน์นาข้าวขั้นบันไดของชนเผ่าน้อย ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่คุ้มครองดอยเหมย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และกล้วยไม้พันธุ์พื้นเมืองหลากหลายชนิด

18. ตลาดนัด

ตามที่ต่างๆ ในรัฐฉาน ตลาดนัดเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งจะจัดขึ้นทุก 5 วันหมุนเวียนตามหมู่บ้านที่ได้กำหนดไว้รอบๆ เมืองเชียงตุง ตามหมู่บ้านจะมีตลาดนัดทุกเช้า พอถึงวัน หมู่บ้านที่ถูกกำหนดไว้จะเต็มไปด้วยผู้คนจากชนเผ่าต่างๆ ที่เดินทางมาจากดอยใกล้เคียง เพื่อมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

ตามตลาดนัดเหล่านี้จะมีผู้คนจากเจ็ดเผ่า คือไทใหญ่ ไทเขิน ลาหู่ฌี อาข่า อิน ปะหล่อง และว้า มาชุมนุมร่วมกัน ชาวบ้านจะพากันมาขายผลผลิตที่พวกเขาหามาได้จากป่าเขา และด้วยเงินที่ได้มานั้นจะใช้ซื้อเกลือ สบู่ ยาสูบ ลวดและสิ่งของอื่นๆ ก่อนที่จะกลับไปบนดอย ภาษาที่ใช้ในการค้าขายที่นี่คือภาษาไทเขิน การหมุนเวียนตลาดนัดจะมีขึ้นที่ กาดเชียงตุง กาดตอก กาดไทค์ กาดพาด กาดโพน สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามที่ได้กำหนดไว้

19. ร้านเครื่องเขินเคลือบ

งานฝีมือเครื่องเขินดั้งเดิมของเมืองเชียงตุง จัดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ได้สืบทอดและเล่าขานมาหลายศตวรรษ แล็กเกอร์คุณภาพสูง จะต้องทำมาจากยางต้นไม้รักใหญ่ (thitsi) ที่มีอายุมากกว่า 10 ปีเท่านั้น เจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงตุงทรงเห็นคุณค่าภาชนะเครื่องเคลือบเหล่านี้สำหรับการใช้ประจำวัน เนื่องจากทนทานต่อโรครา น้ำค้างและการผุเปื่อย

ร้านอู่มุ่หลิงตา (U Mu Ling Ta) ดำเนินกิจการโดยครอบครัวชนเผ่าไทเขินซึ่งเป็นคนรัฐฉาน ได้สืบทอดกิจการต่อเนื่องมาได้ 5 ช่วงอายุคน ตั้งแต่สมัยของเจ้าฟ้าเป็นผู้ผลิตเครื่องเขินโบราณ ร้านอู่มุ่หลิงตาเป็นร้านเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ นักท่องเที่ยวยังสามารถชมกระบวนการผลิตได้อีกด้วย ทางร้านจำหน่ายเครื่องเขินคุณภาพสูง ที่เคลือบดำสวยงามมาก รวมทั้งลวดลายนูนสีทอง ราคาเริ่มต้นที่ 500 บาท นอกจากเครื่องเขินแล้วยังมีจำหน่ายดาบทรงฉาน มีดเล็ก ภาชนะเครื่องเงินของชนเผ่าฉาน รวมถึงกำไล แหวน และตุ้มหูอีกด้วย

ร้านขายของที่ระลึก

ร้านอู่มุ่หลิงตา (U Mu Ling Ta) (ร้านเครื่องเขินฉานดั้งเดิม) No 25, Soam Moan Block, Tachi Leik Road
TEL: 202-2611
Line: +95-92-5430-4645.
KBT ร้านเครื่องแต่งกายฉานพื้นเมือง และของที่ระลึก No. 174, Pa Daeng Quarter (2)
Facebook: KBT Souvenir Shop,
Line: 095-9-524-1938
Line ID:@oonkham
Viber: +95-9-524-1938
TEL: +95-842-2507/+95-9-3200-6420